ประวัติความเป็นมา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ ซึ่งสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า,สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์,พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๒ มีชื่อเดิมว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” และมีพระบรมราชโองการเปลี่ยนนามใหม่ว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๙ โดยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติยศของพระองค์สืบไป ดังปรากฏในประกาศพระราชปรารภในการก่อพระฤกษ์สังฆิกเสนาศน์ราชวิทยาลัยต่อไปนี้
*พระราชปรารถในการก่อพระฦกษ์สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย
*พระพิมลธรรม พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร) สนองพระราชปรารถ
*ยุคริเริ่มการจัดการศึกษา
*ยุคปรับปรุงและขยายการศึกษา
*ยุครับรองปริญญาบัตรและสถานะของมหาวิทยาลัย
พระราชปรารถในการก่อพระฦกษ์สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย
ศุภมัสดุพระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาค ล่วงแล้ว ๒๔๓๙ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม จุลศักราช ๑๒๕๘ วนระสังวัจฉระ ภัทรบทมาศ ชุษณปักษ สับตมีดิถี รวิวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๕ กันยายนมาศ เตรสมะมาสาหะคุณพิเศษปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุศยรัตนราชรวิวงษ วรุตมพงษบริพัตร วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศอุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรกรีบรมนารถ มหามกุฎราชวรางกูร สุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฐไพบูลย์บูรพาดูลย์กฤษฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนต บาทบงกชยุคล ประสิทธิ สรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาล ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณ อดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิฐศักดิ์สมญา พินิตประชานารถ เปรมกระมลขัตติยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์ อุดมเดชาธิการ บริบูรณคุณสาร สยามาทินครวรุฒเมกราชดิลก มหาปริวารนายก อนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินทร อเนกชนนิกร สโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเสวตฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหา บรมราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชโรดม บรมนารถ- ชาติอาชาไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสิตลหฤไทย อโนปไมยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำริห์ว่าจำเดิมแต่ได้เสด็จเถลิง ถวัลยราชสมบัติ บรมราชาภิเศกแล้วมาได้ทรงทนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ถาวรรุ่งเรืองเจริญขึ้นโดยลำดับ แต่พระสัทธรรมในพระบรมพุทธสาสนานี้ ย่อมมีเหตุปัจจัยอาศรัยกันแลกัน เมื่อพระปริยัติสัทธรรมเจริญแพร่หลายอยู่ พระปฏิบัติสัทธรรม- จึ่งจะเจริญไพบูลได้ เมื่อพระปฏิบัติสัทธรรมไพบูลอยู่ พระปฏิเวทสัทธรรมจึงจะสมบูรณ์ได้ พระปริยัติสัทธรรมย่อมเป็นรากเหง้าเค้ามูลแห่งพระสาสนา ๆ จะดำรงอยู่แลเจริญขึ้นก็ด้วยพระปริยัติสัทธรรม การที่จะบำรุงพระปริยัติสัทธรรม อันเป็นรากเหง้าของพระพุทธสาสนาให้ไพศาลบริบูรณ์ยิ่งขึ้น ก็ย่อมอาศรัยการบำรุงให้มีผู้เล่าเรียน แลที่เล่าเรียนให้สะดวกยิ่งขึ้น
ประวัติความเป็นมา ของห้องเรียนสุราษฎร์ธานี
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์ไทย ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์ทรามหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาขึ้น เมื่อ พ.ศ.2473ตั้งอยู่ ณ.วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ และโปรดให้เรียกว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” เปิดสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2439 และมีพระราชโองการเปลี่ยนนามใหม่ว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2439 โดยมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นสถานที่ศึกษาพระไตรปิฏกและวิชาชีพชั้นสูง สำหรับพระภิกษุ สามเณร และคฤหัสถ์ เปิดสอนระดับปริญญาตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2490 และดำเนินการจัดการเรียนการสอนมาโดยลำดับจนกระทั่ง พ.ศ.2527 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติ รับรองวิทยฐานะหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณมาหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์
ในปีพ.ศ.2540 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้น ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2540 กำหนดเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลกำหนดสถานภาพ และวัตถุประสงค์ (ตามมาตรา 6) ไว้ดังนี้ “ให้เป็นสถานศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิจัย ส่งเสริมและให้บริการทางพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุ สามเณร คฤหัสถ์ รวมทั้งการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม”
เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษา บริการทางการศึกษา และส่งเสริมให้พระสังฆาธิการ ครูสอนปริยัติธรรม และพระภิกษุสามเณรทั่วไปได้ศึกษาวิชาการด้านพระพุทธศาสนาให้สูงขึ้น ในปี พ.ศ.2546 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เสนอโครงการขยายห้องเรียนระดับปริญญาตรี หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศาสนา ต่อสภาวิชาการในคราวประชุมครั้งที่ 3/2546 เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2546ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเสนอให้สภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาอนุมัติ และในคราวประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 3/2546 เมื่อวันที่ 25 เดือนเมษายน พ.ศ.2546 ที่ประชุมมีมติอนุมัติโครงการขยายห้องเรียนระดับปริญญาตรี หลักสูตรพุทธศาสตร์บัณฑิตสาขาวิชา ศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ไปที่วัดพัฒนาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยให้ชื่อว่า โครงการขยายห้องเรียนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช วัดพัฒนาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2546 เป็นต้นมา โดยมีนิสิตเข้าศึกษารุ่นแรก จำนวน 30 รูป
ต่อมาในปี พ.ศ.2552 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2552 มีมติอนุมัติเปิดหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ วิชาเอกการบริหารรัฐกิจ (สำหรับบรรพชิตและคฤหัสถ์) คณะสังคมศาสตร์ ณ โครงการขยายห้องเรียน วิทยาเขตนครศรีธรรมราช วัดพัฒนาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
พ.ศ.2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2553 มีมติอนุมัติเปิดหลักสูตรพุทธศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ (สำหรับบรรพชิตและคฤหัสถ์)คณะสังคมศาสตร์ ณ โครงการขยายห้องเรียนวิทยาเขตนครศรีธรรมราช วัดพัฒนาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี