ประวัติมหาวิทยาลัย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ ซึ่งสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ มีชื่อเดิมว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” และมีพระบรมราชโองการเปลี่ยนนามใหม่ว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” เมื่อ วันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๙ โดยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติยศของพระองค์สืบไป ดังปรากฏในประกาศพระราชปรารถในการก่อพระฤกษ์สังฆิกเสนาศน์ราชวิทยาลัยต่อไปนี้
*พระราชปรารถในการก่อพระฦกษ์สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย
*พระพิมลธรรม พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร) สนองพระราชปรารถ
*ยุคริเริ่มการจัดการศึกษา
*ยุคปรับปรุงและขยายการศึกษา
*ยุครับรองปริญญาบัตรและสถานะของมหาวิทยาลัย
พระราชปรารถในการก่อพระฦกษ์สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัยศุภมัสดุพระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาค ล่วงแล้ว ๒๔๓๙ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม จุลศักราช ๑๒๕๘ วานระสังวัจฉระ ภัทรบทมาศ ชุษณปักษ สับตมีดิถี รวิวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๕ กันยายนมาศ เตรสมะมาสาหะคุณพิเศษ ปริเฉทกาลกำหนด
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุศยรัตนราชรวิวงษ วรุตมพงษบริพัตร วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศอุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรกรีบรมนารถ มหามกุฎราชวรางกูร สุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฐไพบูลย์บูรพาดูลย์กฤษฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนต บาทบงกชยุคล ประสิทธิ สรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาล ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณ อดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิฐศักดิ์สมญา พินิตประชานารถ เปรมกระมลขัตติยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์ อุดมเดชาธิการ บริบูรณคุณสาร สยามาทินครวรุฒเมกราชดิลก มหาปริวารนายก อนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินทร อเนกชนนิกร สโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดม บรมราชสมบัติ นพปดลเสวตฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหา บรมราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชโรดม บรมนารถ- ชาติอาชาไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสิตลหฤไทย อโนปไมยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำริห์ว่าจำเดิมแต่ได้เสด็จเถลิง ถวัลยราชสมบัติ บรมราชาภิเศกแล้วมาได้ทรงทนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ถาวรรุ่งเรืองเจริญขึ้นโดยลำดับ แต่พระสัทธรรมในพระบรมพุทธสาสนานี้ ย่อมมีเหตุปัจจัยอาศรัยกันแลกัน เมื่อพระปริยัติสัทธรรมเจริญแพร่หลายอยู่ พระปฏิบัติสัทธรรม- จึ่งจะเจริญไพบูลได้ เมื่อพระปฏิบัติสัทธรรมไพบูลอยู่ พระปฏิเวทสัทธรรมจึงจะสมบูรณ์ได้ พระปริยัติสัทธรรมย่อมเป็นรากเหง้าเค้ามูลแห่งพระสาสนา ๆ จะดำรงอยู่แลเจริญขึ้นก็ด้วยพระปริยัติสัทธรรม การที่จะบำรุงพระปริยัติสัทธรรม อันเป็นรากเหง้าของพระพุทธสาสนาให้ไพศาลบริบูรณ์ยิ่งขึ้น ก็ย่อมอาศรัยการบำรุงให้มีผู้เล่าเรียน แลที่เล่าเรียนให้สะดวกยิ่งขึ้น